ขั้นตอนการทำชิ้นงานเซรามิกขึ้นมาชิ้นนึง ต้องผ่านกระบวนการคิด และการลงมือทำ แต่ละขั้นตอนมีความยากง่าย และมีรายละเอียดเจาะลึกเข้าไปอีก บางขั้นตอนก็แสนจะง่าย แต่วิเคราะห์ให้ดี กว่าจะได้มันไม่ง่ายเลยผมจะสรุปขั้นตอน งานเซรามิก กระถางบอนไซจิ๋ว โดยการเผาด้วยเตาฟืน แบบคร่าวๆ ตามที่ผมเข้าใจ
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการปั้น ดินที่ผมคิดว่าใช้ได้ในการเผาเตาฟืน คือดินสโตนแวร์ เอิร์ทเทินแวร์ ผสมกับทรายละเอียดด้วยบางส่วน นำมาผสมนวดดินให้เข้ากัน กว่าจะเริ่มทำงานชิ้นนี้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ผมเริ่มสเก็ตภาพในหัว เริ่มจากการปั้นกระถาง โดยใช้แป้นหมุนมือ จากนั้นก็ขึ้นรูปเณรน้อยอิคิวซัง ให้มีท่าทางเชื่อมโยงกับตัวกระถาง โดยการจัดท่าให้เณรพยายามที่จะปีนกระถาง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาในการปั้นกระถางและเณร ประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นปล่อยให้แห้งในอุณหภูมิห้องปกติ ผลงานจะแห้งสนิทใช้เวลา 1 วัน แต่กว่าผมจะนำไปเผาดิบ ผมปล่อยทิ้งไว้ถึง 4 สัปดาห์ ช่วงเวลาที่รอเขาเตาเผาดิบนั้น ผมก็จะปั้นผลงานใหม่ๆ เพิ่มเติมต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 ผลงานที่ได้จากการเผาดิบ หรือที่เรียกว่าเผาบิสกิต (Biscuit) เป็นการเผาที่อุณหภูมิ 700 – 800 องศาเซลเซียส ซึ่งขึ้นตอนการเผานี้จะกินเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ในช่วง 1- 5 ชั่วโมงแรกนั้น จะเป็นการเผาเลี้ยงไฟ เผาอย่างช้าๆ ที่อุณหภูมิ ไม่เกิน 300 องศาเซลเซียส เผื่อให้ความชื้นในดินนี้ระเหยออก
ขั้นตอนที่ 3 หลังจากที่เผาบิสกิตเรียบร้อยแล้ว จะทำการขัดผิวกระถางให้เรียบ แล้วนำฟองน้ำชุบน้ำหมาดๆ ปาดเช็ดผลงานเพื่อกำจัดฝุ่นดินที่ติดผลงาน ขั้นตอนนี้จะทำการชุบเคลือบและเพ้นท์สี เพียงแค่จุ่มผลงานลงไปในน้ำเคลือบ หรือจะใช้ภู่กันปัดสี เพ้นท์กระถางตามแต่ต้องการ ซึ่งดูเหมือนง่ายดาย แต่กรรมวิธีที่จะได้นำเคลือบแต่ละชนิดนั้น มันไม่ง่ายเลย ต้องมีความรู้ด้านเคมี และทฤษฏีการใช้แร่ธาตุมาผสมการสารเคมีต่างๆ ซึ่งผมไม่ทราบเลย ปัจจุบันนี้ยังต้องใช้น้ำเคลือบขี้เถ้า เคลือบสำเร็จรูป
ขั้นตอนที่ 4 ก่อนจะเข้าเตาเผาโดยเริ่มจากการจัดเรียงผลงาน ซึ่งจะต้องนำฝาหอยแครงมารองผลงานทุกๆ ชิ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ชิ้นงานติดพื้นเตา เนื่องจากบรรยากาศในเตาเผามีอุณหภูมิสูงเกินพันองศา เขม่าขี้เถ้าจะเกิดการหลอมละลาย และติดชิ้นงาน ฝาหอยแครงนั้นมีธาตุที่คล้ายๆ กับสารอลูมิน่า จึงช่วยให้ผลงานไม่ติดกับพื้นเตา ฉะนั้น ผลงานที่ผ่านการเผาเตาฟืนทุกๆ ผลงาน จะมีร่องรอยของเปลือกหอยแครงติดมาด้วย ดูคลาสสิคเอามากๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านสมัยก่อนที่ทำกันมาแต่นมนาน
ผลงานที่ได้จากการเผาเตาฟืน (Wood fired) จะเผาที่อุณหภูมิ 1,280 – 1,300 องศา ใช้ระยะเวลา 1 วัน 1 คืนในการเผางาน กว่าจะเผาเสร็จ ก็ต้องรอให้ไฟในเตาค่อยๆ หมอดดับลง ใช้ระยะเวลาอีก 3 วันกว่าเตาจะเย็นลง แล้วค่อยเปิดเตานำผลงานออกมาเชยชม
เตาที่ผมใช้งานเป็นเตาฟืนของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง โดยมีอาจารย์จรัญ หนองบัว และอาจารย์รัชดา หนองบัว จาก Family Clay เป็นผู้ควบคุมการเผา และให้คำแนะนำความรู้เทคนิคต่างๆ ในการทำงานเซรามิก ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านมา ณ โอกาส นี้ด้วยครับ